ข้ามไปยังเนื้อหา

ทำไมพยานพระยะโฮวาฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าต่างจากศาสนาอื่น?

ทำไมพยานพระยะโฮวาฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าต่างจากศาสนาอื่น?

 เรา​ทำ​ตาม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​อย่าง​เคร่งครัด​ใน​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ซึ่ง​มัก​เรียก​กัน​ว่า “อาหาร​ค่ำ​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” หรือ​อาหาร​ค่ำ​มื้อ​สุด​ท้าย หรือ​วัน​ครบ​รอบ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู (1 โครินธ์ 11:20, พระ​คัมภีร์ โดย​คณะ​กรรมการ​คาทอลิก​เพื่อ​พระ​คัมภีร์) แต่​ความ​เชื่อ​ของ​กลุ่ม​ศาสนา​อื่น ๆ ใน​เรื่อง​การ​ฉลอง​นี้​ไม่​ได้​มา​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล พวก​เขา​ไม่​ได้​ทำ​ตาม​ที่​พระ​คัมภีร์​บอก

จุด​ประสงค์

 จุด​ประสงค์​ของ​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ก็​เพื่อ​ระลึก​ถึง​พระ​เยซู และ​แสดง​ความ​ขอบคุณ​ที่​ท่าน​ยอม​สละ​ชีวิต​เพื่อ​เรา (มัทธิว 20:28; 1 โครินธ์ 11:24) การ​ฉลอง​นี้​ไม่​ใช่​พิธี​ศักดิ์สิทธิ์ หรือ​การ​ประกอบ​พิธี​ทาง​ศาสนา​ที่​จะ​ทำ​ให้​ได้​รับ​พร​หรือ​ได้​รับ​การ​อภัย​บาป a คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ว่า​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​อภัย​บาป ไม่​ใช่​โดย​การ​ประกอบ​พิธี​ทาง​ศาสนา แต่​โดย​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​เท่า​นั้น—โรม 3:25; 1 ยอห์น 2:1, 2

บ่อย​แค่​ไหน?

 พระ​เยซู​สั่ง​สาวก​ให้​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า แต่​ไม่​ได้​บอก​ว่า​บ่อย​แค่​ไหน (ลูกา 22:19) บาง​คน​รู้สึก​ว่า​ควร​ฉลอง​ทุก​เดือน ส่วน​บาง​คน​ก็​บอก​ว่า​ควร​ฉลอง​ทุก​สัปดาห์ ทุก​วัน วัน​ละ​หลาย​ครั้ง หรือ​บ่อย​แค่​ไหน​ก็​ได้​แล้ว​แต่​ความ​เหมาะ​สม แต่​ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ปัจจัย​บาง​อย่าง​ที่​ควร​คำนึง​ถึง

 พระ​เยซู​ตั้ง​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​วัน​ปัสกา​ของ​ชาว​ยิว แล้ว​ท่าน​ก็​เสีย​ชีวิต​ใน​วัน​เดียว​กัน​นั้น (มัทธิว 26:1, 2) นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​บังเอิญ พระ​คัมภีร์​เทียบ​ให้​เห็น​ว่า พระ​เยซู​เป็น​เหมือน​ลูก​แกะ​ปัสกา​ที่​ถูก​ถวาย​เป็น​เครื่อง​บูชา (1 โครินธ์ 5:7, 8) การ​ฉลอง​ปัสกา​ทำ​กัน​ปี​ละ​ครั้ง (อพยพ 12:1-6; เลวีนิติ 23:5) คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ก็​ระลึก​ถึง​พระ​เยซู​ปี​ละ​ครั้ง​ใน​วัน​ครบ​รอบ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ท่าน b และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ก็​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​นี้​ซึ่ง​มี​บันทึก​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

วัน​และ​เวลา

 แบบ​แผนที่​พระ​เยซู​วาง​ไว้​สำหรับ​การ​ฉลอง​นี้​ไม่​เพียง​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​ควร​ทำ​บ่อย​แค่​ไหน แต่​ยัง​ช่วย​ให้​รู้​วัน​เวลา​ที่​ควร​ทำ​ด้วย ท่าน​เริ่ม​การ​ฉลอง​นี้​หลัง​ดวง​อาทิตย์​ตก ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​นิสาน ค.ศ. 33 ตาม​ปฏิทิน​จันทรคติ​ที่​ใช้​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล (มัทธิว 26:18-20, 26) เรา​ยัง​คง​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ใน​วัน​นี้​ของ​ทุก​ปี ตาม​อย่าง​ที่​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ทำ​กัน c

 แม้​วัน​ที่ 14 เดือน​นิสาน ค.ศ. 33 จะ​เป็น​วัน​ศุกร์ แต่​ใน​ปี​ต่อ ๆ มา วัน​ครบ​รอบ​นี้​ก็​อาจ​เป็น​วัน​อื่น​ของ​สัปดาห์​ซึ่ง​ไม่​ใช่​วัน​ศุกร์​เสมอ​ไป และ​เพื่อ​เรา​จะ​รู้​ว่า​วัน​ที่ 14 เดือน​นิสาน​จะ​ตรง​กับ​วัน​ที่​เท่า​ไร​ของ​แต่​ละ​ปี เรา​ก็​ใช้​วิธี​นับ​วัน​แบบ​เดียว​กับ​ที่​ใช้​ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู ซึ่ง​ไม่​ใช่​วิธี​เดียว​กับ​ที่​ชาว​ยิว​ใน​ปัจจุบัน​ใช้​ใน​ปฏิทิน​ของ​พวก​เขา d

ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น

 ใน​การ​ฉลอง​แบบ​ใหม่​นี้ พระ​เยซู​ใช้​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​กับ​เหล้า​องุ่น​แดง​ที่​เหลือ​จาก​การ​ฉลอง​ปัสกา​ใน​วัน​นั้น (มัทธิว 26:26-28) พวก​เรา​จึง​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​วาง​ไว้ โดย​ใช้​ขนมปัง​ที่​ไม่​ใส่​เชื้อ​หรือ​ไม่​ใส่​ส่วน​ผสม​อื่น​ใด​เลย และ​ใช้​เหล้า​องุ่น​แดง​ธรรมดา ๆ ไม่​ใช่​น้ำ​องุ่น​หรือ​เหล้า​องุ่น​ที่​ทำ​ให้​มี​รส​หวาน เติม​แอลกอฮอล์ หรือ​ใส่​เครื่องเทศ

 บาง​นิกาย​ใช้​ขนมปัง​ที่​ใส่​ยีสต์​หรือ​เชื้อ​ให้​ฟู​ขึ้น แต่​เชื้อ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​มัก​จะ​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​บาป​และ​ความ​เสื่อม​ทราม (ลูกา 12:1; 1 โครินธ์ 5:6-8; กาลาเทีย 5:7-9) ดัง​นั้น ขนมปัง​ที่​ไม่​มี​เชื้อ​และ​ไม่​ใส่​ส่วน​ผสม​อย่าง​อื่น​จึง​เป็น​สัญลักษณ์​ที่​เหมาะ​สม​กับ​ร่าง​กาย​ที่​ไม่​มี​บาป​ของ​พระ​เยซู (1 เปโตร 2:22) อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​มัก​จะ​ทำ​กัน​ซึ่ง​ไม่​ได้​มา​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​คือ การ​ใช้​น้ำ​องุ่น​ที่​ไม่​ได้​บ่ม​แทน​เหล้า​องุ่น และ​สาเหตุ​ที่​บาง​คริสตจักร​ทำ​อย่าง​นี้​ก็​เพราะ​ข้อ​ห้าม​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ของ​พวก​เขา​เรื่อง​การ​ดื่ม​เครื่อง​ดื่ม​ที่​มี​แอลกอฮอล์—1 ทิโมธี 5:23

เป็น​เครื่องหมาย ไม่​ใช่​เนื้อ​และ​เลือด​จริง ๆ

 ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​และ​เหล้า​องุ่น​แดง​ที่​ใช้​ใน​วัน​ครบ​รอบ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู เป็น​เครื่องหมาย​แทน​ร่าง​กาย​และ​เลือด​ของ​พระ​คริสต์ เครื่องหมาย​ทั้ง 2 อย่าง​นี้​ไม่​ได้​เปลี่ยน​เป็น​เนื้อ​และ​เลือด​ของ​พระ​เยซู​อย่าง​อัศจรรย์​เหมือน​ที่​บาง​คน​คิด ให้​เรา​มา​ดู​เหตุ​ผล​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ด้วย​กัน

  •   ถ้า​พระ​เยซู​สั่ง​สาวก​ให้​ดื่ม​เลือด​ของ​ท่าน พระ​เยซู​ก็​กำลัง​สั่ง​ให้​พวก​เขา​ฝ่าฝืน​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ที่​ให้​งด​เว้น​จาก​เลือด (ปฐมกาล 9:4; กิจการ 15:28, 29) แต่​เป็น​ไป​ไม่​ได้​เลย​ที่​พระ​เยซู​จะ​สั่ง​ให้​คน​อื่น​ฝ่าฝืน​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​เลือดยอห์น 8:28, 29

  •   พวก​อัครสาวก​คง​ไม่​ได้​ดื่ม​เลือด​ของ​พระ​เยซู​จริง ๆ เพราะ​ตอน​ที่​พระ​เยซู​พูด ท่าน​ยัง​ไม่​ตาย​และ​เลือด​ของ​ท่าน​ก็​ยัง​ไม่​ได้​ไหล​ออก—มัทธิว 26:28

  •   พระ​เยซู​ถวาย​ตัว​เอง​เป็น​เครื่อง​บูชา “แค่​ครั้ง​เดียว​เพื่อ​กำจัด​บาป​ตลอด​ไป” (ฮีบรู 9:25, 26) แต่​ถ้า​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น​ถูก​เปลี่ยน​เป็น​เนื้อ​และ​เลือด​ของ​พระ​เยซู​จริง ๆ ระหว่าง​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ก็​เท่า​กับ​ว่า​พระ​เยซู​ต้อง​ถวาย​ตัว​เอง​เป็น​เครื่อง​บูชา​ทุก​ครั้ง​ที่​พวก​เขา​กิน​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น

  •   พระ​เยซู​บอก​ว่า “ให้​ทำ​อย่าง​นี้​ต่อ ๆ ไป​เพื่อ​ระลึก​ถึง​ผม” ไม่​ใช่​ให้ “เอา​ผม​มา​ถวาย​เป็น​เครื่อง​บูชา”— 1 โครินธ์ 11:24

 คน​ที่​เชื่อ​เรื่อง​การ​แปร​สาร​ซึ่ง​บอก​ว่า​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น​กลาย​เป็น​เนื้อ​และ​เลือด​ของ​พระ​เยซู​จริง ๆ อาศัย​หลัก​ข้อ​เชื่อ​นี้​ตาม​คำ​ที่​ใช้​ใน​ข้อ​คัมภีร์​บาง​ข้อ ตัว​อย่าง​เช่น ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​ฉบับ มี​คำ​พูด​ของ​พระ​เยซู​ที่​พูด​ไว้​เกี่ยว​กับ​เหล้า​องุ่น​ว่า “นี่​เป็น​โลหิต​ของ​เรา” (มัทธิว 26:28, ฉบับ​คาทอลิก) แต่​คำ​พูด​ของ​พระ​เยซู​ก็​อาจ​แปล​ได้​ว่า “นี่​หมาย​ถึง​เลือด​ของ​ผม” e และ​ใน​กรณี​นี้ พระ​เยซู​ก็​กำลัง​สอน​โดย​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​อย่าง​ที่​ท่าน​มัก​จะ​ทำ​บ่อย ๆ —มัทธิว 13:34, 35

ใคร​ควร​กิน​เครื่องหมาย​นี้?

 เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า มี​แค่​ไม่​กี่​คน​ที่​กิน​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น ทำไม​ถึง​เป็น​อย่าง​นั้น?

 โดย​การ​หลั่ง​เลือด​ของ​พระ​เยซู ท่าน​ได้​ตั้ง “สัญญา​ใหม่” ซึ่ง​มา​แทน​ที่​สัญญา​เดิม​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทำ​ไว้​กับ​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ (ฮีบรู 8:10-13) คน​ที่​อยู่​ใน​สัญญา​ใหม่​เท่า​นั้น​ที่​จะ​กิน​เครื่องหมาย​นี้​ใน​วัน​ครบ​รอบ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู ดัง​นั้น ไม่​ใช่​คริสเตียน​ทุก​คน​จะ​กิน​เครื่องหมาย​นี้​ได้ จะ​มี​ก็​แต่ “คน​ที่​พระเจ้า​เรียก” ด้วย​วิธี​พิเศษ​ของ​พระองค์​เท่า​นั้น​ที่​กิน​ได้ (ฮีบรู 9:15; ลูกา 22:20) คน​เหล่า​นี้​จะ​ปกครอง​ใน​สวรรค์​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์ และ​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า มี​เพียง 144,000 คน​เท่า​นั้น​ที่​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​นี้—ลูกา 22:28-30; วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1, 3

 พวก​เรา​ไม่​เหมือน​กับ “แกะ​ฝูง​เล็ก” ซึ่ง​ถูก​เรียก​ให้​ไป​ปกครอง​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​ใน​สวรรค์ เรา​มี​ความ​หวัง​ที่​จะ​ได้​เป็น​ส่วน​ของ “ชน​ฝูง​ใหญ่” ซึ่ง​มี​โอกาส​จะ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป​บน​โลก (ลูกา 12:32; วิวรณ์ 7:9, 10) พวก​เรา​ที่​มี​ความ​หวัง​ทาง​แผ่นดิน​โลก​จึง​ไม่​กิน​เครื่องหมาย​ใน​วัน​ครบ​รอบ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู แต่​เรา​ไป​ร่วม​งาน​ใน​วัน​นี้​เพื่อ​แสดง​ความ​ขอบคุณ​ที่​พระ​เยซู​สละ​ชีวิต​เป็น​ค่า​ไถ่​เพื่อ​เรา—1 ยอห์น 2:2

a หนังสือ​ไซโคลพีเดีย ของ​แมกคลินทอก​และ​สตรองก์ เล่ม​ที่ 9 หน้า 212 บอก​ว่า “คำ​ว่า พิธี​ศักดิ์สิทธิ์ ไม่​มี​อยู่​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่ และ​คำ​ภาษา​กรีก มิสทีʹรีออน ก็​ไม่​ได้​ใช้​กับ​การ​รับ​บัพติศมา​หรือ​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า หรือ​ใน​การ​ฉลอง​ใด ๆ ที่​เป็น​เพียง​เปลือก​นอก”

b ดู​หนังสือ The New Schaff-Herzog Encyclopedia of Religious Knowledge, เล่ม​ที่ 4 หน้า 43-44, และ​หนังสือ​ไซโคลพีเดีย ของ​แมกคลินทอก​และ​สตรองก์ เล่ม​ที่ 8 หน้า 836

c ดู​หนังสือ The New Cambridge History of the Bible, เล่ม​ที่ 1 หน้า 841

d ปฏิทิน​ชาว​ยิว​ใน​ปัจจุบัน​กำหนด​วัน​เริ่ม​ต้น​เดือน​นิสาน​โดย​ดู​จาก​วัน​ที่​เกิด​จันทร์​ดับ​ตาม​หลัก​ดาราศาสตร์ ซึ่ง​ใน​ศตวรรษ​แรก​ไม่​ได้​ใช้​วิธี​นี้ แต่​จะ​นับ​วัน​เริ่ม​ต้น​เดือน​นิสาน​เมื่อ​เห็น​จันทร์​เสี้ยว​แรก​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม ซึ่ง​อาจ​จะ​เป็น​หนึ่ง​วัน​หรือ​มาก​กว่า​นั้น​หลัง​จาก​การ​เกิด​จันทร์​ดับ​ตาม​หลัก​ดาราศาสตร์ และ​นี่​ก็​เป็น​สาเหตุ​หนึ่ง​ที่​ว่า ทำไม​วัน​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู​จึง​ไม่​ตรง​กับ​วัน​ที่​ชาว​ยิว​ฉลอง​ปัสกา

e ดู​หนังสือ A New Translation of the Bible โดย​เจมส์ มอฟฟัตต์; The New Testament—A Translation in the Language of the People โดย​ชาร์ลส์ บี. วิลเลียมส์; และ The Original New Testament โดย​ฮิวห์ เจ. ชอนฟิลด์