ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีผู้ออกแบบไหม?

ปลายปีกที่งอขึ้นตอนนกบิน

ปลายปีกที่งอขึ้นตอนนกบิน

เวลาที่เครื่องบินไอพ่นบินจะเกิดลมวนที่มีลักษณะเป็นก้นหอยตรงบริเวณปลายปีก กระแสลมวนนี้ทำให้เกิดแรงต้านและมีการเผาผลาญน้ำมันเพิ่มขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดแรงปะทะกับเครื่องบินที่บินมาใกล้ ๆ ดังนั้น เมื่อเครื่องบินต้องใช้ทางขึ้นลงเดียวกันจึงต้องมีการทิ้งช่วงเวลาเพื่อให้กระแสลมวนหมดไปก่อนที่จะปล่อยให้เครื่องบินลำถัดไปขึ้น

วิศวกรเครื่องบินค้นพบวิธีที่จะลดปัญหาเหล่านี้ให้น้อยลง พวกเขาทำอย่างไร? พวกเขาแก้ที่ปลายปีกเครื่องบินที่เรียกว่า วิงเล็ต (winglets) โดยเลียนแบบจากขนนกที่งอขึ้นบริเวณปลายปีกตอนที่นกบิน เช่น นกแร้ง นกอินทรี และนกกระสา

ลองคิดดู: เวลาบินขนตรงปลายปีกของนกขนาดใหญ่จะโค้งงอขึ้นจนเกือบตั้งตรง นี่ช่วยให้บินขึ้นสูงได้เร็วโดยใช้ปีกที่ไม่ยาวมากของมัน และยังทำให้มันบินได้ดีขึ้นด้วย วิศวกรได้ออกแบบปีกของเครื่องบินให้มีรูปทรงคล้าย ๆ กับปลายปีกของนก เขาใช้อุโมงค์ลมในการทดสอบและพบว่าถ้าดัดแปลงบริเวณปลายปีกเครื่องบินให้โค้งงอขึ้นและเป็นไปตามทิศทางลมที่เหมาะสม การบินของเครื่องบินจะดีขึ้นซึ่งปัจจุบันดีกว่าเดิมถึง 10 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น เพราะอะไร? สารานุกรมการบิน (Encyclopedia of Flight) บอกว่า ปลายปีกโค้งงอไม่ได้ลดแรงต้านซึ่งเกิดจากกระแสลมวนเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงผลักที่จะช่วย “ลดผลกระทบของแรงต้านปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน” ด้วย

ดังนั้น การที่ปลายปีกโค้งงอขึ้นทำให้เครื่องบินบินได้ไกลกว่าเดิม รับน้ำหนักได้มากขึ้น ประหยัดน้ำมัน และปีกเครื่องบินก็ไม่ต้องยาวมากทำให้สะดวกต่อการลงจอด ในปี 2010 องค์การนาซารายงานว่า สายการบิน “ทั่วโลกประหยัดน้ำมันถึง 7,600 ล้านลิตร” และนี่ช่วยลดพลังงานที่เครื่องบินปล่อยออกมาได้อย่างมหาศาล

คุณคิดอย่างไร? ปลายปีกที่งอขึ้นตอนนกบินเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?