ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อคนที่คุณรักป่วย

เมื่อคนที่คุณรักป่วย

“ตอนที่หมออนุญาตให้พ่อกลับบ้านได้ เราขอให้หมอช่วยดูผลตรวจเลือดของพ่ออีกครั้ง ถึงแม้หมอรับรองว่าผลตรวจไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เขาก็ใจดียอมดูผลเลือดให้เรา แล้วหมอก็แปลกใจมากเมื่อเห็นว่ามีความผิดปกติ 2 อย่าง หมอขอโทษเราแล้วก็ให้พ่อไปพบหมอเฉพาะทาง ตอนนี้พ่อสบายดีแล้ว และเราดีใจมากที่วันนั้นเราถามหมอให้แน่ใจอีกครั้ง”—มาริเบล

ก่อนพบหมอให้จดอาการต่าง ๆ ที่เขาเป็นและยาที่เขาใช้

การไปพบหมอตามนัดและการอยู่โรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ทำให้เครียดมาก เรื่องที่มาริเบลเจอมากับตัวเองแสดงว่า เพื่อนหรือญาติที่ไปกับผู้ป่วยอาจช่วยเหลือได้มาก หรือถึงกับช่วยชีวิตเขาได้ด้วยซ้ำ แล้วคุณจะช่วยคนที่คุณรักได้อย่างไร?

ก่อนพบหมอ ช่วยผู้ป่วยจดอาการต่าง ๆ ที่เขาเป็นและยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เขาใช้ รวมทั้งจดคำถามที่อยากถามหมอ ซักถามเพื่อนของคุณเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ของเขาให้ละเอียด หรือถามว่ามีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคแบบเดียวกับเขาไหม อย่าคิดเอาเองว่าหมอรู้รายละเอียดเหล่านี้แล้ว หรือคิดว่าเขาจะถาม

ตั้งใจฟัง ถามคำถามด้วยความนับถือ และจดสิ่งที่หมอบอก

เมื่อพบหมอ คุณกับผู้ป่วยต้องตั้งใจฟังให้ดีเพื่อจะเข้าใจตรงกับที่หมอพูด และเมื่อถามคำถาม ต้องใจเย็น ๆ รอฟังความเห็นของหมอแทนที่จะสรุปเอาเอง ให้ผู้ป่วยพูดและถามคำถามด้วยตัวเอง สนใจและจดให้ละเอียด ถามเรื่องทางเลือกในการรักษา ในบางกรณีก็ดีที่จะแนะนำผู้ป่วยให้ลองปรึกษาหมออีกสักคนสองคนก่อนตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร

ย้ำกับผู้ป่วยว่าให้ทำตามที่หมอสั่งทุกอย่าง และต้องไม่ลืมกินยาที่หมอให้มาด้วย

กลับถึงบ้าน ย้ำกับผู้ป่วยเรื่องการนัดหมายคราวหน้า ถามให้แน่ใจว่าเขารู้ไหมว่าต้องกินยาอะไรก่อนอะไรหลัง บอกให้เขากินยาทุกอย่างตามที่หมอสั่ง และถ้ามีผลข้างเคียงหรือมีอาการแพ้ยาก็ต้องไปหาหมอทันที ช่วยผู้ป่วยให้คิดบวกและสนับสนุนเขาให้ทำตามคำแนะนำที่หมอสั่งเพิ่มเติม อย่างเช่น ไปรักษาหรือตรวจเพื่อติดตามอาการ นอกจากนี้ คุณอาจช่วยเขาให้รู้จักโรคและอาการของโรคมากขึ้น

ในโรงพยาบาล

ตรวจดูแบบฟอร์มทั้งหมดว่ากรอกข้อมูลครบและถูกต้องไหม

มีสติและตื่นตัว ผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลมักจะกังวลและไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี การที่คุณมีสติและไม่ทำตัววุ่นวายจะช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรู้สึกผ่อนคลายและหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดได้ ตรวจดูแบบฟอร์มการรักษาตัวในโรงพยาบาลว่าข้อมูลที่กรอกถูกต้องไหม เคารพสิทธิของผู้ป่วยโดยให้เขาตัดสินใจเลือกวิธีรักษาตามข้อมูลที่เขาได้รับ แต่ถ้าเขาป่วยหนักจนเกินกว่าที่จะพูดด้วยตัวเอง ก็ควรนับถือการตัดสินใจเรื่องวิธีรักษาที่เขาเขียนไว้ก่อนหน้านี้ และนับถือสิทธิของญาติใกล้ชิดหรือตัวแทนที่เขาระบุไว้ในเอกสาร *

เล่าอาการของผู้ป่วยที่คุณสังเกตเห็นให้หมอหรือพยาบาลฟังด้วยความนับถือ

เป็นฝ่ายริเริ่ม อย่ากลัวที่จะเป็นฝ่ายเริ่มพูดก่อน การแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยและกิริยามารยาทที่ดีของคุณจะทำให้ทีมแพทย์รู้สึกว่าเขาต้องเอาใจใส่ผู้ป่วยรายนี้มากขึ้น และถึงกับดูแลผู้ป่วยดีขึ้นด้วย ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ผู้ป่วยคนหนึ่งอาจมีหมอหลายคนดูแล คุณอาจช่วยหมอเหล่านั้นได้โดยเล่าว่าหมอคนอื่น ๆ พูดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับผู้ป่วย เนื่องจากคุณรู้จักผู้ป่วย คุณอาจพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นทั้งทางร่างกายและจิตใจของเขา

ทำสิ่งที่คุณทำได้โดยไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวาย

ให้ความนับถือและขอบคุณ หมอและพยาบาลมักต้องเจอกับเรื่องเครียด ๆ ทุกวัน ดังนั้น ควรพูดคุยกับพวกเขาแบบที่คุณอยากให้เขาทำกับคุณ (มัดธาย 7:12) นับถือเขาเพราะเขามีประสบการณ์และได้ร่ำเรียนมา มั่นใจในความสามารถของเขาและขอบคุณที่เขาพยายามรักษาผู้ป่วยอย่างดี ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้พวกเขาพยายามทำอย่างสุดความสามารถ

ไม่มีใครหนีความเจ็บป่วยได้ แต่ถ้าคุณเตรียมตัวล่วงหน้าและอยู่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ คุณก็จะช่วยเพื่อนหรือญาติให้ผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้—สุภาษิต 17:17

^ วรรค 8 ในแต่ละที่อาจมีกฎหมายและการปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วยไม่เหมือนกัน ดังนั้น ให้ตรวจดูว่าผู้ป่วยกรอกเอกสารแจ้งความจำนงในการรักษาครบถ้วนไหม และต้องเป็นเอกสารล่าสุดที่ผู้ป่วยทำไว้